• กลุ่มข่าว : เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

  • จังหวัดยโสธรจัดประชุมคณะทำงานกำกับ ติดตาม และขับเคลื่อนการก่อสร้างทางรถไฟฯ ในเขตพื้นที่อำเภอเลิงนกทาฯ ครั้งที่ 2/2565
    ผู้โพสต์ : [สำนักงานจังหวัดยโสธรทั่วไป
    วันที่ 22 ก.ย. 2565 (15:34 น.)

    จังหวัดยโสธรได้จัดประชุมคณะทำงานกำกับ ติดตาม และขับเคลื่อนการก่อสร้าง
    ทางรถไฟสายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม ในเขต
    พื้นที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2565
    เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร และร่วมลงพื้นที่ตรวจ
    ติดตามจุดก่อสร้างทางรถไฟฯ ในเขตพื้นที่อำเภอเลิงนกทา  ณ จุดก่อสร้างสถานี
    เลิงนกทา บ้านดอนม่วง ตำบลกุดแห่ และจุดก่อสร้างป้ายหยุดรถไฟห้องแซง
    ตำบลห้องแซง

    โดยในการประชุมฯ มีนายชัยวัฒน์ แสงศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ประธานคณะทำงานฯ
    เป็นประธานการประชุม มีนายธนกร ไชยกุล กรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร
    และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 3 จังหวัดยโสธร ที่ปรึกษาคณะทำงาน หัวหน้า/ผู้แทน
    ส่วนราชการระดับจังหวัดและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย
    นายอำเภอเลิงนกทา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดยโสธร ผู้แทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ผู้แทน
    บริษัทรับจ้างก่อสร้าง และผู้นำท้องที่และท้องถิ่นในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟ เข้าร่วมประชุม
    โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบหมายผู้แทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการรายงานความ
    ก้าวหน้าของการดำเนินงานให้ที่ประชุมได้รับทราบ เช่น ผลการดำเนินการเกี่ยวกับการสำรวจ
    และประเมินค่าใช้จ่ายค่าทดแทน/ค่าชดเชยแก่ประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอเลิงนกทาที่ได้รับ
    ผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างตามโครงการ ณ ปัจจุบันคิดเป็นจำนวนเงิน
    442 ล้านบาท และได้มีการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมติที่ประชุมคณะทำงานฯ
    ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ที่คณะทำงานได้มีมติที่ประชุมดังนี้

                                     1) ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยประสานการดำเนินการไปยัง
    สำนักงานการปฏิรูปจังหวัดยโสธร และ ส.ป.ก. ส่วนกลาง เกี่ยวกับการเข้าสำรวจรังวัดที่ดิน
    ส.ป.ก. และการขอใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ในเส้นทางโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ -
    มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม ในเขตพื้นที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร

                                     2) ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ
    นำประเด็นเกี่ยวกับการให้   ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน
    ที่ดินในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร -
    นครพนม เช่น ค่าสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในที่นาที่ไร่ ค่าเสียหาย
    และค่าเยียวยา ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการจ่ายค่าช่วยเหลือดังกล่าว
    ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการปรับแก้ไขหลักเกณฑ์ ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
    เพื่อให้ความช่วยเหลือในกรณีดังกล่าว

                                     3) ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ
    นำประเด็นเรื่องความสะดวก  ในการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินที่เส้นทางก่อสร้างทางรถไฟตัดผ่า
    แปลงที่ดินของพี่น้องประชาชน โดยให้พิจารณาจัดให้มีทางสาธารณะเลียบทางรถไฟทั้งสองข้าง
    เพื่อให้ประชาชนผู้ถูกเวนคืนที่ดินได้ใช้เดินทางไปที่ดินอีกฝั่งของตนเองได้ โดยไม่ต้องผ่านที่ดิน
    ของคนอื่นเพื่อป้องกันปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างประชาชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

                                     4) ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ
    พิจารณาใช้จังหวัดยโสธรเป็นต้นแบบในการดำเนินงานและการแก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชน
    ผู้ถูกเวนคืนที่ดินจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายดังกล่าว

                                     5) ให้มีการประชุมคณะทำงานกำกับ ติดตาม และขับเคลื่อนการก่อสร้าง
    ทางรถไฟ สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม ในเขตพื้นที่อำเภอเลิงนกทา
    จังหวัดยโสธร ทุกไตรมาส รวมทั้งให้คณะทำงานฯ มีการลงพื้นที่เพื่อติดตามและขับเคลื่อนการเนินงาน

                                     6) ให้จังหวัดยโสธรแจ้งมติที่ประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1/2565 นี้ และ
    มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ไปยังการรถไฟ
    แห่งประเทศไทย เพื่อให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณและทำการศึกษาความเป็นไปได้ และความเหมาะสม
    ในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายรอง (Spur Line) สายอุบลราชธานี - อำนาจเจริญ - ยโสธร - มุกดาหาร
    เพื่อเชื่อมโยงกับเส้นทางโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร -
    นครพนม ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังจะก่อสร้างนี้

    โดยหลังจากจบการประชุม คณะทำงานฯ ได้ร่วมลงพื้นที่เดินทางไปยังจุดก่อสร้างสถานีรถไฟเลิงนกทา
    และจุดก่อสร้างป้ายหยุดรถไฟห้องแซง ในการนี้ นายธนกร ไชยกุล กรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ
    สภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 3 จังหวัดยโสธร ได้กล่าวว่า การก่อสร้างทางรถไฟ
    สายดังกล่าว คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถทดลองเดินรถไฟได้ในปี พ.ศ. 2572 ซึ่งจะเป็นผลดี
    ต่อการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่

    //รายงานข่าวโดย สำนักงานจังหวัดยโสธร

    ไฟล์แนบ
    รฟท_๒๒๐๙๑๙_21.jpg